เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนคือเครื่องมือเสริมที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรค แต่ไม่ใช่ฉีดแล้วภายใน 1-2 สัปดาห์จะเกิดผล แต่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ดังนั้น แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันโรค ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 ที่ทั่วโลกยอมรับเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ปัจจุบันมี 3 ตัว และจะมีตัวอื่นทยอยออกมาอีกมาก สำหรับวัคซีนถือเป็นชีววัตถุ การฉีดเข้าร่างกายต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ตามด้วยประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดประสิทธิภาพวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 50% ขึ้นไป ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ก็มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันในแต่ละปีตั้งแต่ 40-70% และสุดท้ายคือราคา ซึ่งขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย วัคซีนมีไม่มาก ราคาจึงสูงมาก
"เบื้องต้นประเทศไทยไม่ได้จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุกคน แต่มีเป้าหมายให้ได้ 50-70% ของประชากร ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่จะไม่ได้รับการฉีด ส่วนภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน ต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ครอบคลุมเชื้อดื้อยาหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกือบ 100 ล้านคนแล้ว เสียชีวิตอีก 2 ล้านคน จึงรอไม่ได้ ทำให้ต้องนำวัคซีนมาใช้ก่อน แต่ต้องทำให้คนปลอดภัยด้วย" นพ.ทวี กล่าว
สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของแอสตราเซนเนกาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายพิจารณา ทั้งฝ่ายคุณภาพ ที่ดูแม้กระทั่งโรงงานที่สร้างถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ วัคซีนที่ผลิตออกมาใน 3-4 ล็อตต้องเหมือนกัน ฝ่ายดูในสัตว์พิจารณาเรื่องความเป็นพิษ และฝ่ายทางการแพทย์หรือด้านคลินิก ซึ่งตนก็อยู่ในชุดนี้ โดยเอกสารที่แอสตราเซนเนกาส่งมาเมื่อช่วงปลายปี 2563 มี 18,000 หน้า ซึ่งก้จะอ่านสรุปในช่วงที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนที่ตนรับผิดชอบจะต้องอ่านทุกหน้าอย่างละเอียด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ทั้งนี้ วัคซีนที่ผ่าน อย. ย่อมมีความปลอดภัย แต่ไม่ 100% และไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ 100% มีแต่มากหรือน้อย แต่ต้องเป็นผลข้างเคียงที่อยู่ในระดับยอมรับได้ และเมื่อผลิตวัคซีนออกมาแล้วก็จะต้องส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อนนำมาใช้
หลายคนถามว่าทำไมต้องแอสตราเซนเนกา บริษัทนี้มีนโยบายไม่เอากำไร แต่ไม่ควรขาดทุน ต้องการผลิตวัคซีนช่วยชาวโลก ต้องการขยายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆ โดยในอาเซียนมีบริษัทเอกชนหลายแห่งในไทยและประเทศข้างเคียงเสนอตัว แต่แอสตราเซนเนกาจะมีเช็กลิสต์ในการเลือก และสุดท้ายก็เลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของไทย ซึ่งย้ำว่าเขาเป็นผู้เลือก ไม่ใช่เราเลือก บ่งบอกว่าในเกณฑ์วิทยาศาสตร์ บริษัทนี้เข้าขั้นมาตรฐาน เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่คนไทยต้องภาคภูมิใจ และแม้ว่าจะเลือกก็ยังต้องปรับปรุงพัฒนาโรงงานให้ผลิตได้
"ผมไม่ค่อยสบายใจที่มีผู้สงสัย ข้องใจ คัดค้าน ขอความกรุณาให้ทำใจร่มๆ อย่ารุ่มร้อนมาก ทำใจให้เป็นธรรม ปล่อยวางบ้าง เพื่อจะดูว่าสิ่งที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่เบื้องหลังทำงานหนักมาก เพื่อคนไทย ถามว่าเราจัดหาวัคซีนนี้ได้ช้าหรือไม่ ถือว่าไม่ช้า เพราะหลายประเทศก็ยังไม่ได้ และตอนนี้เราเห็นผลลัพธ์บางวัคซีนโผล่ขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะในการฉีดคนหลักหมื่น ผลข้างเคียงบางอย่างอาจไม่เจอ แต่เมื่อฉีดในคนหลักล้าน ผลข้างเคียงบางอย่างก็จะเจอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้" นพ.ทวี กล่าวและว่า สถานการณ์การเมือง ความคิดเห็น การโจมตีต่างๆ ครั้งนี้หนักที่สุด แต่ในฐานะหมอโรคติดเชื้อ ขอยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่เข้าข้างการเมือง ขอให้ใจร่มๆ โดยจะพยายามเอาข้อมูลมาให้เห็นและเป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการวิชาการของสาธารณสุข ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีจุดยืน และยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
นพ.ทวี กล่าวว่า ส่วนวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย มีการใช้มานานหลายสิบปี จึงมั่นใจมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัคซีนรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่งวิจัย ซึ่งผลการศึกษาในบราซิลพบว่าป้องกันกลุ่มที่อาการรุนแรง 100% กลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง และน้อย 70% และป้องกันกลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง น้อย และไม่มีอาการได้ 50% ซึ่งส่วนตัวรับได้เพราะผ่านเกณฑ์ บางคนอาจจะติดใจในประเทศผู้ผลิต แต่วัคซีนปัจจุบันที่ใช้อยู่ เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ บี มาจากประเทศจีนทั้งสิ้น ซึ่งเทคโนโลยีของจีนไปไกลมาก ที่สำคัญก่อนจะนำมาใช้ในไทยจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างหนักก่อน เพราะชีวิตคนไทยสำคัญกว่าวัคซีน
"สำหรับการใช้วัคซีนโควิด 19 ของแอสตราเซนเนกา 5 หมื่นโดสแรกที่มาจากอิตาลี ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะนำมาฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคงด่านหน้า ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น สมุทรสาคร อ.แม่สอด จ.ตาก ชายแดนภาคใต้ที่ติดกับมาเลเซีย โดยจะฉีดให้ครบทั้ง 5 หมื่นคน และรอเวลาอีก 8 -12 สัปดาห์ จึงจะเริ่มฉีดโดสที่ 2 ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงเวลานั้นวัคซีนเข็มที่ 2 จะทยอยมาถึง โดยข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า การฉีดวัคซีนในเข็มแรกกระตุ้นภูมิได้ร้อยละ 60-70 หากเว้นระยะไปอีก 8-12 สัปดาห์ ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิได้เพิ่มถึงร้อยละ 80 ดีกว่าการฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ตามเดิม ส่วนทำไมไม่ฉีดคนหนุ่มสาว แต่ฉีดคนสูงอายุ แนวความคิดว่าจะป้องกันการเสียชีวิตคือคนแก่ หรือป้องกันไม่ให้คนหนุ่มสาวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำไปติดคนแก่ ตรงนี้แล้วแต่แนวคิดของแต่ละประเทศ ใครคิดก็ถูกหมด ขอให้ฝ่ายการแพทย์คิดและชั่งน้ำหนักอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนไทยเราจะเลือกอันนั้น" นพ.ทวีกล่าว
Copyright