วาไรตี้ 2021-01-25 20:02:30 921
“นีท-เบญจรัตน์” นักจิตวิทยาเด็ก  วิเคราะห์ปัญหาจากละคร “บังเกิดเกล้า” สู่การปัญหาชีวิตจริง

       นอกจากละครเสียดสีสถาบันครอบครัว “บังเกิดเกล้า” ช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง34 จะมอบความบันเทิง ความสนุกครบรส รวมมิตรไปด้วยฝีมือนักแสดงเจ้าบทบาทอย่าง พระเอกตลอดกาล “หนุ่ม-ศรราม” และ นางเอกฝีมือขั้นเทพ “ป๊อก-ปิยธิดา” พร้อมรุ่นใหญ่ไฟกระพริบ “ตุ๊ก-ญาณี” และ “ตุ๊ก-เดือนเต็ม” แล้วนั้น  เหนือไปจากความบันเทิง ละครน้ำดีเรื่องนี้ยังสอดแทรกปัญหาสังคมการใช้ชีวิตของสถาบันครอบครัว รวมไปถึงการปลูกฝังการเลี้ยงดูลูกๆ จุดเล็กๆของการเริ่มต้นในสังคม ที่จะเพาะจากรากแก้วให้เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ในสังคมออกดอกออกผลเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงดู รดน้ำพรวนดิน ซี่งละคร “บังเกิดเกล้า” คือความบันเทิงที่ผู้ผลิต เช้นจ์2561 และ ทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี หมายมั่นปั้นมือ ให้เป็นอีกละครในดวงใจ ที่สะท้อนปัญหาครอบครัวตามคอนเซป “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” วลีฮิตที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย งานนี้มองผ่านมุมมอง คิดวิเคราะห์ แยกแยะ จากนักจิตวิทยาเด็กคนดัง “คุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์” นักจิตวิทยาโรงเรียน ที่เป็นกูรูให้คำปรึกษานักเรียนทั่วประเทศ ตีประเด็นจากละคร “บังเกิดเกล้า” จากในจอแก้ว สู่การแก้ปัญหาที่หาทางออกได้ในชีวิตจริง ที่คนดูสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ พร้อมปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามแต่ละครอบครัว

            ละคร “บังเกิดเกล้า” มากกว่าความบันเทิง คือสะท้อนปัญหาชีวิตจริง

                “ต้องบอกเลยว่าละครเรื่องนี้ เป็นละครที่สะท้อนสังคมได้ค่อนข้างดีเลย สะท้อนพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ผิดวิธี และพอเราเลี้ยงลูกที่ผิดวิธีแล้วเนี้ย มันก็จะส่งผลให้เราเห็นว่าเด็กเนี้ยจะเกิดปัญหาไม่ว่าจะปัญหากับตนเอง หรือว่าปัญหาต่อสังคม ซึ่งละครเรื่องนี้ นีทได้มีโอกาสดูแล้วแบ่งกรุ๊ปออกมาแล้วมันก็จะสะท้อน พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูก ได้ด้วยกันอยู่ 3เรื่อง เรื่องแรกต้องบอกว่าละครเรื่องนี้สะท้อนการเลี้ยงลูกที่บอกว่า ลูกฉันต้องถูกเสมอ ซึ่งลูกฉันถูกเสมอ เด่นชัดเลยค่ะ ก็จะมาจากตัวละครคุณชัชรินทร์ ถ้าเราไปดูในละครจะเห็นชัดเลยว่า คุณแม่ที่เป็นเจ้าของโรงน้ำปลา มีประโยคที่เค้าคุยกับสุขสม ที่บอกว่าถ้าเธอทำอะไรลูกฉันแม้กระทั้งปลายเล็บ เธอจะต้องมีปัญหา หรือประโยคที่บอกว่าลูกไม่ผิด ลูกคนอื่นจะผิดหมด อันนี้เลยคือสิ่งที่สะท้อนว่าพ่อแม่เนี้ยสอนให้ลูกถูกเสมอ ลูกไม่เคยผิด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แย่นะคะ เพราะว่าตามหลักพัฒนาการด้านจริยธรรมเนี้ย เด็กต้องมีการเรียนรู้ว่าอะไรถูก หรืออะไรผิด เพราะว่าถ้าเค้าเรียนรู้ อะไรถูกอะไรผิดเนี้ย เวลาเค้าโตขึ้นมาเนี้ย เค้าก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกนะ สิ่งนี้คือสิ่งที่ผิด เราจะเห็นว่าตัวละครคุณชัชเนี้ย แยกไม่ถูกว่าฉันกำลังทำผิดอยู่ อย่างเช่นไปเที่ยวสาว ไม่ดูแลลูก ไปเปย์สาว อันนี้คือสิ่งที่เค้าบอกว่าไม่ผิด จะช็อคมากที่ฉากนึง คนที่ไม่เข้าใจจิตวิทยา จะรู้สึกว่าทำไมคุณชัชถึงกล้าพูดกับภรรยาตัวเองว่านี้คือความผิดเธอ ไม่ใช่ความผิดฉัน เพราะเธอไม่มาดูแลฉัน ก็เลยหนีไปเที่ยว สิ่งนี้คือสิ่งที่บอกว่าคุณชัชคือผู้ใหญ่ที่แยกไม่ได้ว่าอันไหนถูก อันไหนผิด ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ไม่เคยสอนให้ลูกรู้ว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูกนะ ชื่นชมให้ทำต่อ อันนี้คือสิ่งที่ผิดห้ามทำ ทำไม่ได้ และต้องแก้ไขค่ะ”

                พ่อแม่ต้องรักลูก และใส่ใจเติมเต็มให้กับลูกเป็นพิเศษ

                “ส่วนข้อที่สองเนี้ย ต้องบอกว่าละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเลี้ยงดูลูกของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม นีทยกตัวอย่างว่า น้องจิ๊บ กับหนูจ๋า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับความใส่ใจ แต่ได้ความรักนะ อันนี้เห็นชัดได้จากคุณแม่ คุณสุขสมเนี้ย ก็ทำงานหนักมาก แต่เค้ารู้สึกว่าการทำงานหนักมากคือความรัก เค้าอยากจะเอาความรักตรงนี้ให้กับลูก แต่เด็กอะเค้าไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น เด็กไม่ได้ต้องการให้แม่ได้เงินเยอะ แต่เด็กต้องการแค่พ่อแม่มีเวลาและใส่ใจ และดูแลเค้า เราจะเห็นจากฉากฉากนึงเลยที่ น้องๆเนี้ยเห็นคุณแม่กลับมาจากงานศพ น้องๆก็วิ่งไปกอด นีทคิดว่าสิ่งเรานี้คือลูกๆอยากได้ความรักจากแม่มาก แต่คุณแม่บอกว่าอย่ามากอดฉัน แม่เพิ่งกลับมาคุณแม่สกปรก คือคุณแม่เนี้ยก็ไม่ได้แสดงความรักในสิ่งที่คุณลูกอยากได้ หรือหนูจ๋า ก็อยากให้คุณแม่เล่านิทาน แต่คุณแม่ไม่เล่า ให้พี่เลี้ยงเป็นเล่าแทน สิ่งเหล่านี้ เราก็จะเห็นเลยว่าเค้าเนี้ยได้รับความรัก แต่ไม่ได้รับความใส่ใจ พอเค้าไม่ได้รับความใส่ใจ มันเลยทำให้เค้าพยายามอ้อน พอเค้าพยายามอ้อนเพื่อขอความรักจากแม่ กลายเป็นว่าแม่ก็ทะเลาะกับลูก อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นเลยว่า แม่รักแต่แม่ไม่ได้ใส่ใจ มันก็จะเป็นปัญหาที่ลูกพยายามเรียกร้องความสนใจนั้นเองค่ะ อีกอันที่จะพูดถึงคือ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก คุณชัชและคุณสุขสม เวลาเค้ามีปัญหากันเค้าก็จะทะเลาะกันบ้านแตก ด่ากันก็แรง ทำลายข้าวของอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตามหลักจิตวิทยา เราจะเรียกว่าเค้าไม่ได้เป็นโมเดล หรือว่าเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก เพราะจริงๆแล้วตัวเด็ก เค้าจะเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆจากผู้ใหญ่คนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่นคุณชัช เวลาไม่พอใจภรรยา คุณชัชก็จะด่าเลย เด็กก็จะเรียนรู้ว่า เวลาที่ฉันมีอะไรไม่พอใจนะ พ่อฉันทำ พ่อฉันด่า ก็เลยเรียนรู้ว่านี้คือสิ่งที่ฉันต้องทำ ฉันไม่พอใจฉันก็จะด่า ถ้าฉันไม่พอใจฉันก็จะทำร้ายร่างกาย ซึ่งมันก็ออกมาจากตัวละครลูกชายคนโต ที่จะมีฉากที่ไม่พอใจน้องสาว สิ่งที่พี่ชายไม่พอใจ ก็คือตีเลย อันนี้คือสิ่งวที่บอกว่าเพราะพ่อแม่ไม่ได้เป็นต้นแบบที่ดีกับลูก ลูกจึงเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ดี และทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีขึ้นนะคะ”

                พ่อแม่ต้องรักลูกเท่ากัน และไข้ปัญหาคับข้องใจ คลายปมให้ลูก

                “ส่วนอีกข้อนึงที่เห็นจากในละครบังเกิดเกล้า คือเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้ไข้ข้อข้องใจของลูก อันนี้เห็นได้ง่ายจากตัวละครคุณสุขสม คือถ้าเราเห็นในหลายๆครั้งเลย เช่นฉากในอดีตบ้าง คุณสุขสมมักจะพูดกับแม่ตัวเองเสมอว่า แม่รักหนูกับน้องไม่เท่ากัน เพราะว่าน้องสวยกว่า แม่ถึงรักน้องมากกว่า อันนี้คือความคับข้องใจที่เค้ามี คือสิ่งที่เค้าคิดว่าเค้าไม่ได้นรับอ่ะ และสิ่งที่เค้าต้องการคือ เค้าก็อยากให้แม่เคลียร์ปมในใจนี้ เราก็จะเห็นว่าแม่ก็พยายามทำ พยายามที่จะเคลียร์ปมให้กับลูก แต่ว่ามันก็ยังไม่ออกมา เรารู้สึกว่าเวลามที่ลูกเค้าคับข้องใจเค้าจะพูดย้ำๆซ้ำๆ ฉะนั้นการที่เราเป็นพ่อแม่เราเห็นอะไรที่ลูกพูดย้ำๆซ้ำๆเราต้องรู้แล้วว่ามันคือปัญหานะที่ลูกเราคับข้องใจ ซึ่งปัญหาวิธีการแก้ปัญหาคับข้องใจ เราจะเห็นว่าคุณแม่สม แม่ของสุขสมเนี้ยก็พยายามจะทำให้สุขสมเห็นว่าแม่รักลูกนะ อย่างที่บอกว่าหนูโตแล้วไปอยู่กับลูกนะ แม่ต้องดูน้องที่ไม่สบาย ในความเป็นจริงเด็กเค้ารู้หรอกว่าไม่ใช่หรอก เค้าก็รู้ว่าน้องสาวไม่ได้ไม่สบาย เค้าเลยเกิดปัญหาความคับข้องใจขึ้นมา ในตอนเด็กๆสุขสมเค้าพยายามโทรหาแม่ แม่ก็ตัดสายแล้วก็วางสาย สิ่งๆสิ่งนี้คือเป็นสิ่งที่เด็กคิดว่าฉันไม่ได้เหมือนถูกฝาก ฉันถูกทอดทิ้ง เพราะเค้ามีความคิดตั้งแต่เด็กๆว่าเค้าถูกทอดทิ้ง ตอนที่เค้าโตขึ้นเรื่อยๆสิ่งเหล่านี้เลยย้ำเตือนเค้า มันก็ยิ่งมากขึ้นนั้นเอง ฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าอะไรคือความคับข้องใจของลูก เราก็ต้องแก้ไขมัน มันก็เป็นปมที่ส่วนให้คนเป็นพ่อคนเป็นแม่เข้าใจ ได้เห็นจากจุดว่าจุดนี้สำคัญนะ ต้องบอกว่าดูเรื่องนี้จะไม่สายเกินไปที่เราจะแก้ไข ยกตัวอย่างจากคุณสุขสมที่บอกว่า ฉันไม่สวยเหมือนน้องสาว แม่ไม่รักฉันหรอก ถ้ามันมีการแก้ไขที่ดี ลูกเราจะไม่มีความรู้สึกคับข้องใจนะคะ จากสถานการณ์นี้ควรแก้ปัญหานีทเชื่อว่า แม่ก็คงไม่อยากเอาลูกไปฝากให้กับคุณลุงหรอก แต่มันก็คงมีเหตุจำเป็นอะเนอะ เพราะฉะนั้นก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่เราสามารถดูแลใจลูกเราได้ค่ะ แทนที่จะโกหกลูก ก็ควรจะพูดกับลูกตรงไปเลยว่าแม่อาจจะประสบปัญหาอะไร แต่ต้องมีการพูดว่าแม่รักหนูนะ แม่จะโทรหาหนูบ่อยๆ คือสิ่งนี้คือการแก้ปัญหาคับข้องใจผ่านการพูด และผ่านการกระทำ ซึ่งการกระทำก็คือการโทรหา ทำให้ลูกไม่รู้สึกถูกทิ้ง ฉันยังเป็นที่รักของแม่ ต้องบอกว่าชอบละครเรื่องนี้ ทำปมเรื่องนี้ไว้ดีมาก ที่พยายามจะพูด ถึงคุณสุขสมจะโตแล้ว แต่ก็จะพูดตลอด เป็นฉากที่นีทประทับใจ เป็นฉากที่แม่จัดเหมือนงานเลี้ยง ในขณะที่สุขสมคิดว่าคืองานเลี้ยงที่แม่จัดให้สุขสมเรียนจบปริญญาโท แต่สิ่งที่มันแป้กแล้วแม่หน้าเสียคือมันไม่ใช่งานของสุขสม แต่เป็นงานของน้องสาว เค้าก็มีคำน้อยใจ มันคือความคับข้องใจที่เกิดขึ้น ถ้านีทแนะนำคุณแม่ได้ ก็อยากจะบอกว่าคุณแม่ต้องไม่ปล่อยความคับข้องใจนี้ให้เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ที่แม่ทำให้ลูกดูเหมือนรักลูกไม่เท่ากัน เป็นสิ่งที่แม่ต้องแก้ว่า วันนี้ก็จัดงานให้น้องไป งานพรุ่งนี้คืองานของสุขสม นีทว่าคุณสุขสมคือคนที่ต้องการความรัก แต่เค้าอาจจะดูแข็งๆไปหน่อย ถ้าแม่แก้ได้ ต้องแสดงออกมาว่ารักลูกเท่ากัน

            พ่อแม่รังแกฉัน ปัญหาใหญ่ของการเลี้ยงดูลูก ที่ต้องแก้ไข

“ตัวละครคุณชัชเป็นตัวละครที่น่าสงสาร เหมือนกับว่าพ่อแม่รังแกฉัน คือแม่รักลูกมาก รักยิ่งชีพ ใครแตะลูกไม่ได้เสียดายที่รักลูกเกินไป ไม่ได้ให้ลูกเรียนรู้เรียนถูกและเรียนผิด เค้าก็เลยต้องมีชีวิตอย่างที่เราเห็น ไม่รู้จักถูกผิด ทำในสิ่งที่ไม่ได้ แล้วสุดท้ายเนี้ย สังคมก็ต้องลงโทษเค้า เพราะสังคมก็จะมีบรรทัดฐานของความถูกและความผิด ดังนั้นละครเรื่องนี้ป็นสิ่งที่สามารถบอกพ่อและแม่ได้เลยว่าการว่าเด็ก ในเวลาที่เด็กทำผิดไม่ใช่การทำลายจิตใจลูก แต่มันคือหน้าที่ของเราที่ควรสอนเค้าว่าอะไรถูกคือถูก อะไรผิดคือผิด อันนี้เป็นสิ่งสำคัญของละครเรื่องนี้ที่ช่วยสะท้อนและกระตุ้นให้เห็นว่าเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่ที่ดี ใส่ใจลูก และไม่ให้ลูกรู้สึกมีความคับข้องใจ และสอนลูกให้รู้จักถูกผิด”

ติดตามละครน้ำดีสะท้อนปัญหาครอบครัว “บังเกิดเกล้า ตอนอวสานได้ในคืนวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2564 ทางอมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง34 (หลังรายการทุบโต๊ะข่าว) หรือรับ ชมละคร “บังเกิดเกล้า" ย้อนหลังได้ทันที ผ่าน 3 ช่องทาง ที่ www.amarintv.com/บังเกิดเกล้า   YouTube Channel AMARIN TV และ LINE TV


รูปภาพเพิ่มเติม